วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความรู้พื้นฐานของกีฬายูโด

การยูโด กีฬาบริหารร่างกายและจิตใจ
ความรู้พื้นฐานของกีฬายูโด ยูโดเป็นกีฬาหลักประเภทบุคคลประเภทหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นกีฬาสากลอยู่ในขณะนี้ โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์คือ มุ่งบริหารร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของท่านจิโกโร คาโน (Jigoro kano) ผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้ว่า "Maximum Efficiency with minimum Effort and Mutual Welfare and Benifit"
กล่าวคือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตาม หรือที่เรียกว่า "ทางแห่งความสุภาพ" "Gentleness or soft way" ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่าเป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่า อาจต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าด้วยประการทั้งปวงดังกล่าวได้ และด้วยเหตุนี้เองจึงนำเอาคำว่า "ยู Ju" ซึ่งหมายถึงการโอนอ่อนหรือให้ทางแห่งความสุภาพนำหน้าชื่อนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนผู้ให้เรียนหรือผู้เข้ารับการฝึกได้ระลึกอยู่เสมอ
ประโยชน์ที่ได้รับยูโดเป็นวิชาที่ช่วยในการบริหารกายทุกส่วนอย่างแท้จริง ทำให้ร่างกายมีสัดส่วนเหมาะสม ทำให้ร่างกายมีความโอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์ต่างๆได้ ให้รู้จักควบคุมตนเอง ให้มีการทรงตัวที่มั่นคง และทำให้เกิดความผ่อนคลายแก่ร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดสมาธิ นอกจากนั้นยังเป็นเกมกีฬาการต่อสู้ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความกล้าหาญ อดทนให้สูงขึ้น ให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง ช่วยเพิ่มพูนความมานะบากบั่นและความคิดในการตัดสินใจ ตลอดจนการติดต่อกับบุคคลอื่นด้วย ดังนั้นการเล่นและการฝึกยูโดจึงถือเป็นการฝึกด้านจิตใจให้เข้มแข็ง ทรหดอดทนยิ่งขึ้นด้วย
เทคนิคของยูโด (Judo Techniques) เทคนิคของยูโดอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้
นาเงวาซา (Nagewaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม (Throwing) มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแย่งออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง
กาต้าเมวาซา (Katamawaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออกและการจับยืด (Chocking and Holding) เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต้อสู้ยอมจำนน
อาเตมิวาซา (Atemiwaza) เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง (Striking) ส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น และไม่เคยจัดการแข่งขัน
ระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโด ระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดทั้งสองเพศ (ชาย-หญิง) ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีสีของสายคาดเอวเป็นเครื่องหมาย ระดับความสามารถมาตรฐานดังกล่าวแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับใหญ่คือ
ระดับกียู (Kyu) คือระดับที่อาจเรียกว่า "นักเรียน" และ
ระดับดาน (Dan) คือระดับที่เรียกว่า "ผู้นำ" เป็นผู้ซึ่งมีความสามารถสูง ทั้งระดับนักเรียนและระดับผู้นำนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับย่อยๆลงอีก โดยมีสีประจำแต่ละระดับไว้ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดไม่เหมือนกัน
สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ดังนี้
รองสายดำ
ชั้น 5
สาดคาดเอวสีขาว
รองสายดำ
ชั้น 4
สายคาดเอวสีเขียว
รองสายดำ
ชั้น 3
สาดคาดเอวสีฟ้า
รองสายดำ
ชั้น 2
สายคาดเอวสีน้ำตาล
รองสายดำ
ชั้น 1
สาดคาดเอวสน้ำตาลปลายดำ
สายดำ
ชั้น 1
สายคาดเอวสีดำ
สายดำ
ชั้น 2
สายคาดเอวสีดำ
สายดำ
ชั้น 3
สายคาดเอวสีดำ
สายดำ
ชั้น 4
สายคาดเอวสีดำ
สายดำ
ชั้น 5
สายคาดเอวสีดำ
สายดำ
ชั้น 6
สายคาดเอวสขาวสลับแดง
สายดำ
ชั้น 7
สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
สายดำ
ชั้น 8
สายคาดเอวสีขาวสลับแดง
สายดำ
ชั้น 9
สายคาดเอวสีแดง
สายดำ
ชั้น 10
สายคาดเอวสีแดง
สถานที่ฝึก อุปกรณ์
สถานที่ฝึก (The Dojo) สถานที่ฝึกยูโดจะต้องเป็นสถานที่กว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่พื้นปูด้วยเบาะ (Tatami) วางอัดแน่นเป็นแผ่นเดียกัน และมีผ้าคลุมให้ดึงอีกชั้นหนึ่ง โดยปกติเบาะยูโดหรือเสื่อยูโดแต่ละผืนจะมีขนาดยาว 6 ฟุต กว้าง 3 ฟุตและหนา 4 นิ้ว เบาะที่ใช้ฝึกต้องมีความยืดหยุ่นพอดีไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป ถ้าอ่อนเกินไปจะทำให้พื้นผิวไม่เรียบทำให้เท้าพลิกแพลงได้ง่าย และทำให้การเคลื่อนไหวลำบาก แต่ถ้าแข็งเกินไปเวลาล้มอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นการทำหรือการสั่งซื้อควรพิจารณาให้รอบคอบ ควรสั่งซื้อกับร้านที่เชื่อถือได้เท่านั้พื้นที่สำหรับปูเบาะยูโดที่เหมาะสมควรเป็นพื้นไม้ที่ยกสูงขึ้นโดยเฉพาะ ไม่ควรปูกับพื้นซีเมนต์หรือพื้นดินทีเดียว เพราะจะมีความยืดหยุ่นน้อยก่อให้เกิดการการบาดเจ็บได้ง่าย แต่ถ้าปูกับพื้นไม้(เวที) ที่ยกสูงขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นลดการบาดเจ็บได้ด้วยกับสร้างความพอใจให้กับผู้ที่ถูกทุ่ม ที่สามารถลงสู่พื้นได้เสียงดัง เพราะคุณภาพของการลงสู่พื้นที่ดีสามารถวัดได้ที่เสียงดังที่เกิดขึ้นนั้นได้ สถานที่สำหรับฝึกยูโดต้องเป็นห้องเอกเทศไม่ควรเป็นห้องที่ใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น มีแสงสว่างพอเพียงปราศจากเสียงและกลิ่นรบกวน และควรมีช่องทางเดินระหว่างขอบเบาะกับฝาผนังด้วย หากมีบริเวณมากพอควรจัดที่นั่งไว้สำหรับผู้ชมด้วยจะดีมาก นอกจากนั้นภายในห้องฝึกยูโดควรจัดที่เคารพบูชาพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนผู้ให้กำเนิดแก่วิชายูโด หรือครูอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อกิจการของยูโด
เครื่องแต่งกาย (Judogi) เครื่องแต่งกายในการฝึกยูโดต้องสวมชุดโดยเฉพาะที่เรียกว่า Judoji ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประเพณีนิยมเกี่ยวกับการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นมีลักษณะดังนี้
เสื้อ คล้ายเสื้อกิโมโน ถักด้วยด้ายดิบสีขาวหนาแข็งแรงทนทาน แต่อ่อนนิ่มไม่ลื่นมือ สามารถซักได้และใช้ได้นาน ส่วนแขนและลำตัวกว้างหลวม ตัวยาวคลุมก้น แขนยาวประมาณครึ่งแขนท่อนล่างเสื้อยูโดที่ดีต้องมีลักษณะเบาบางแต่แข็งแรง การเบาบางจะช่วยให้การระบายความร้อนในร่างกายดีขึ้น ประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อยูโดที่ดีที่สุดในโลกกางเกง มีลักษณะคล้ายกางเกงจีนเป็นผ้าดิบเช่นกัน ที่เอวมีร้อยเชือกรัดเอว กางเกงต้องหลวมพอสบายยาวประมาณครึ่งขาท่อนล่าง สายคาดเอว เป็นผ้าเย็บซ้อนกันหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวให้คาดเอวได้ 2 รอบ เหลือชายไว้ผูกเงื่อนพิรอด (Reef Knot) แล้วเหลือชายข้างละ 15 เซนติเมตร สำหรับสายคาดเอวนี้เป็นเครื่องแสดงระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดด้วย การฝึกยูโดต้องฝึกด้วยเท้าเปล่า ฉะนั้นเรื่องเล็บเท้าตลอดจนเล็บมือต้องตัดให้สั้น และสะอาดอยู่เสมอ เครื่องประดับเช่น นาฬิการ แหวน สร้อย กิ๊บติดผม ฯลฯ จะต้องเอาออกเพราะสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นักยูโดที่ดีต้องหมั่นทำความสะอาดชุดยูโด มือและเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าให้มีกลิ่นเหม็นเพราะจะทำให้เบาะยูโดสกปรกและมีกลิ่นเหม็นไปด้วย
สถานที่ซื้ออุปกรณ์ ซื้อตามร้านอุปกรณ์กีฬาชั้นนำทั่วๆไป ราคาประมาณ 300-500 บาทขึ้นไป แล้วแต่เนื้อผ้า
มารยาทของนักยูโด ตามที่เราทราบแล้วว่าวิชายูโดเป็นวิชาแห่งความสุภาพอ่อนโยน และห้องฝึกยูโดนั้นเป็นที่รวมของผู้ที่สนใจต่อความสุภาพ นอกจากนั้นห้องฝึกยูโดยังเป็นที่สำรวมร่างกายและจิตใจ และมีสิ่งอันควรสักการะบูชาประดิษฐานอยู่ด้วย ดังนั้นผู้ที่เข้าไปในห้องฝึกยูโดจึงควรสำรวมกิริยาวาจาให้สุภาพและเหมาะแก่สถานที่ เช่น ไม่พูดเสียงดังเกินไป ไม่กล่าวคำหยาบคาย ไม่ตลกคะนอง ไม่สูบบุหรี่ ไม่สวมรองเท้าขึ้นไปบนเบาะยูโด เป็นต้น ระหว่างการฝึกซ้อม หรือฟังคำบรรยายจากครูอาจารย์ควรฟังด้วยความเคารพ นอกจากนั้นควรเคารพเชื่อฟังคำแนะนำของครูอาจารย์ และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของห้องฝึกที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม กับทั้งเป็นการอบรมนิสัย มารยาทและจิตใจของตนเองด้วย
วิธีการแสดงความเคารพ การแสดงความเคารพเป็นการแสดงออกซึ่งทางวัฒนธรรมทางจิตใจอันบริสุทธิ์ ฉะนั้นวิธีแสดงความเคารพจึงต้องกระทำด้วยจิตใจ ไม่เคารพซึ่งกันและกันเพียงพอเป็นพิธีเท่านั้น การแสดงความเคารพตามหลักการของวิชายูโดมีดังต่อไปนี้
เมื่อถึงสถานที่ฝึก ต้องแสดงความเคารพสิ่งที่ตั้งบูชาประจำสถานที่ครั้งหนึ่งก่อน
ก่อนเริ่มฝึก เมื่อขึ้นบนเบาะต้องแสดงความเคารพต่อที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนเริ่มฝึกซ้อมต้องแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน และหลังจากยุติการฝึกซ้อมต้องเคารพกันอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนเลิกฝึกต้องแสดงความเคารพที่บูชา
เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวแล้ว ก่อนจะกลับต้องแสดงความเคารพที่บูชาอีกครั้งหนึ่ง
วิธีทำความเคารพมี 2 วิธี คือ นั่งและยืน ส่วนวิธีเคลื่อนไหวในการแสดงความเคารพ เช่น ยืนแล้วจะกลับเป็นนั่ง หรือนั่งแล้วกลับยืน ตามปกติใช้ขาขวาเป็นหลักในการทรงตัว การเล่นยูโดยังมีหลักการและศิลปอื่นๆอีกมากมายอาทิ การอบอุ่นร่างกายและศิลปการล้ม การทรงตัวและการเคลื่อนไหว การทุ่ม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: